
จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงค์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์
กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสด็จตรวจราชการที่เมืองเชียงราย
พุทธศักราช ๒๔๖๕ ทรงฉายร่วมกับ พลเอก พระเจ้าวรวงค์เธอ กรมหมื่นอดิศรอุดมศักดิ์
เมื่อยังทรงพระยศ นายพลโท หม่อมเจ้าอลงกฎ แม่ทัพน้อยที่ ๒
พร้อมกับนายทหารกรมทหารราบที่ ๑๘ ที่โรงนอนทหารบนดอยจำปี
อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
|
|
ในปีพุทธศักราช ๒๔๖๑ กองทัพบกได้จัดตั้งจังหวัดทหารบกเชียงรายขึ้น โดยขึ้นการบังคับบัญชากับ กรมบัญชาการทหารบก มณฑลพายัพฝ่ายตะวันตก (เชียงใหม่) ตามเดิม ตามคำสั่งทหารบกที่ ๒๒๓/๒๘๒๕๔ ลง ๒๒ มีนาคม ๒๔๖๑ โดยมี พ.อ.พระสุระรณชิต เป็นผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเชียงราย เป็นท่านแรก และได้เปลี่ยนชื่อหน่วยใหม่ เป็น "กรมทหารราบที่ ๑๘"
ได้มีเจ้านายผู้ใหญ่มาตรวจราชการในเมืองเชียงราย คือ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงค์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ร่วมกับ พระเจ้าวรวงค์เธอ กรมหมื่นอดิศรอุดมศักดิ์ ขณะดำรงพระยศเป็น นายพลโท หม่อมเจ้าอลงกฎ แม่ทัพน้อยที่ ๒ โดยเสด็จตรวจเยี่ยมหน่วยทหารเมืองเชียงราย ที่บริเวณดอยจำปี
กรมทหารราบที่ ๑๘ และจังหวัดทหารบกเชียงราย ได้ปฎิบัติภารกิจมาไม่ปรากฎเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นในเมืองเชียงราย จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ ๑ ยุติลง นานาประเทศได้รับความกระทบกระเทือนจากผลของสางครามโลกครั้งที่ ๒ จนเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง รัฐบาลไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้สั่งยุบเลิกหน่วย จังหวัดทหารบกเชียงราย และ กรมทหารราบที่ ๑๘ เสีย เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๗๑ ตามคำสั่งกลาโหม ลง ๒๖ มีนาคม ๒๔๗๑
|
|
การก่อตั้งจังหวัดทหารบกเชียงราย (ยุคที่ ๒)
|
นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๗๑ จนถึงพุทธศักราช ๒๔๙๑ เป็นระยะเวลา ๒๐ ปี ที่จังหวัดทหารบกเชียงรายได้ว่างเว้นจากการมีหน่วยทหารประจำ
อนึ่ง ในปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ มหาสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้อุบัติขึ้น กองทัพไทยได้มีบทบาทต่อการรักษาสันติภาพของโลก และได้รับผลกระทบจากผลของสงคราม
หน่วยทหารที่เคยเข้าร่วมปฏิบัติการในสงครามเอเชียบูรพาในพื้นที่จังหวัด เชียงราย และจังหวัดพะเยา มีหลายหน่วย อาทิ.-
|
๑. หน่วย กรมทหารราบที่ ๔ และที่ ๕ (ภายหลังการแปรสภาพเป็นกรมทหารราบที่ ๒)
เป็นหน่วยรบด้านบูรพาทิศ ซึ่งกำเนิดจากการ จัดหน่วยระดับกองพลสนามขึ้นเรียกว่า "กองพลที่ ๒" ในปีพุทธศักราช ๒๔๘๔
กรมทหารราบทั้ง ๒ ได้รับมอบหมายให้เคลื่อนย้ายกำลังไปร่วมรบกับ กองพันพายัพที่ ๒ โดยพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ และเคลื่อนกำลังไปปฏิบัติการรบในครั้งนั้น คือ สหรัฐไทยเดิม และหน่วยทั้งสอง ได้ปฏิบัติการรบสำเร็จภารกิจที่ได้รับมอบหมายอย่างสมบูรณ์ กล่าวคือ สามารถเข้ายึดเมืองสำคัญต่างๆ ในสหรัฐไทยเดิมได้ทั้งหมด อาทิ เมืองเชียงตุง, เมืองยู้, เมืองเชียงขา, เมืองแฮะ เป็นต้น จึงนับว่าเป็นเกียรติประวัติ และวีรกรรม อย่างสูง
นามผู้บังคับหน่วยทั้งสองคือ
- พ.ท.หลวงอภิชิตเรืองเดช
- พ.ท.ขุนนันทโยธิน
|
|
๒. ร.๓
เมื่อ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ เมื่อญี่ปุ่นบุกเข้าประเทศไทย จนได้กลายเป็นมหามิตร และได้ตกลงทำการร่วมรบกันในสงครามมหาเอเชียนั้น กรมทหารราบที่ ๗ ได้ถูกตั้งขึ้นอีกที่จังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย
-
ผบ.กรม ร.๗
-
พ.อ.หลวงนิเทศยุทธศิลป์ (ฟู มาศนันทร์)
-
เสธ.กรม ร.๗
-
พ.ต.เกียรติ์ บูรกสิกร
ในต้นเดือนมกราคม ๒๔๘๕ บก.กรม ร.๗ และหน่วยในกรมทหารราบที่ ๗ ได้เคลื่อนกำลังพลทั้งหมด ไปเข้าที่บริเวณบ้านร่องห้า อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย (ยังไม่ได้ตั้งเป็นจังหวัด) ต่อมา ในเดือนเมษายน ๒๔๘๕ บก.กรม ร.๗ ไปตั้งหน่วยที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย หน่วยขึ้นตรงต่อ บก.กรม อยู่บริเวณวัดดอนตัน ส่วนกองพันต่างๆ เข้าที่ตั้ง ดังนี้.-
ร.พัน.๑๙ เข้าที่ตั้งบริเวณตำบลแม่ลาว ห่างจากที่ตั้ง บก.กรม ร.๗ ไปทางทิศเหนือ ๑๖ กิโลเมตร
ร.พัน.๒๐ เข้าที่ตั้งบริเวณบ้านดอย ห่างจากที่ตั้ง บก.กรม ร.๗ ไปทางทิศเหนือ ๓ กิโลเมตร
ร.พัน.๒๑ อยู่ที่ตำบลแม่ใจ ห่างจากที่ตั้ง บก.กรม ร.๗ ไปทางทิศใต้ ๑๘ กิโลเมตร
ต้นเดือนมิถุนายน ๒๔๘๕ หน่วย กรม ร.๗ ได้เคลื่อนที่เป็นกองหนุนของกองพลที่ ๓ ไปเข้าที่ตั้งดอยเหมย กองพันทหารราบที่ ๑๙ และกองพันทหารราบที่ ๒๐ ให้เดินทางเลยไปที่บ้านเชียงตุง ส่วนกองพันทหารราบที่ ๒๑ ให้อยู่กับกองบังคับการ กรมทหารราบที่ ๗ และได้เคลื่อนที่ติดตามไปหลังจากที่กองพันทหารราบที่ ๑๙ และกองพันทหารราบที่ ๒๐ ได้เข้าที่เรียบร้อยแล้ว
๑๑ มิถุนายน ๒๔๘๕ ได้ส่ง กองพันทหารราบที่ ๑๙ เดินทางไปเข้าตีข้าศึก และยึดเมืองยอง เมื่อยึดแล้วให้วางกำลังขัดตาทัพไว้ (เมืองยองอยู่ทางทิศเหนือเมืองเชียงตุง)
๑๒ มิถุนายน ๒๔๘๕ ได้ส่งกองพันทหารราบที่ ๒๐ เดินทางไปยึดเมืองมะ อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือเมืองเชียงตุง ผลการปฏิบัติทั้ง ๒ กองพัน คือ กองพันทหารราบที่ ๑๙ เข้าตี และยึดเมืองยองไว้ได้เรียบร้อย ส่วนกองพันทหารราบที่ ๒๐ ซึ่งเดินทางไปได้ปะทะกับแนวต้านทานของข้าศึกที่บ้านปางฮก ในเวลา ๑๑.๐๐ น. ของวันนั้น ได้เข้าโจมตี และโอบล้อมข้าศึก ส่วนนอกนั้นถอยหนีไปได้ ข้าศึกที่ถอยหนีไปนี้ได้ถอยไปเป็น ๒ ทาง ส่วนใหญ่ถอยไปทางท่าข้ามตำหนักกุลา บ้านตาปิง อีกส่วนหนึ่งถอยไปทางท่าข้ามบ้านเปิม ได้จัดกำลังติดตามไปถึงท่าข้าม บ้านท่าเปิม แต่ไม่พบข้าศึกหรือมีการต้านทานอย่างใด ส่วนใหญ่ที่ตามไปท่าข้ามแม่น้ำหลอย ตำหนักกุลานี้ ได้พบการต้านทานจากข้าศึกทางฝั่งตรงข้าม จึงหยุดภูมิประเทศทางฝั่งนี้อยู่
ครั้นเมื่อ ๑๕ มิถุนายน ๒๔๘๕ กองพันทหารราบที่ ๒๐ ได้ข้ามลำน้ำต่อหน้าข้าศึกทำลายข้าศึกฝั่งตรงข้ามแล้ว ติดตามไปปะทะแนวที่มั่นบ้านกิ่วซาย ไม่สามารถจะขับไล่ข้าศึกส่วนนี้ได้ เพราะข้าศึกยึดภูมิประเทศดีกว่า และอยู่สูงกว่า จึงถอนกำลังมายึดทางฝั่งตรงข้ามตามเดิม
ใน ๒๓ มิถุนายน ๒๔๘๕ กรมทหารราบที่ ๗ ได้ส่งกองพันทหารราบที่ ๒๑ ข้ามลำน้ำที่บ้านท่าเปิม เพื่อจะได้ตีตลบทางด้านหลังข้าศึกที่บ้านกิ่วซาย ช่วยให้กองพันทหารราบที่ ๒๐ เข้าตีได้สำเร็จ และเดินทางไปยึดบ้านมะได้ตามคำสั่ง แต่กองพันทหารราบที่ ๒๑ ได้ข้ามลำน้ำและปะทะข้าศึกฝั่งตรงข้ามแตกถอยและติดตามไปถึงบ้านปางก้อ กำลังของกองพันทหารราบที่ ๒๑ จึงได้ถูกข้าศึกโอบล้อมยิงจนทำให้ พันตรี ยง ศรีคารานันท์ ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๒๑ เสียชีวิตในที่รบ และถอนกำลังมายึดอยู่ฝั่งตรงข้ามบ้านท่าเปิมตามเดิม
ต่อมาตลอดเวลาที่ตรึงแนวอยู่กับข้าศึก ยิ่งนานวันเข้าฝนยิ่งชุกหนัก ทำการรบไม่ได้ผลจึงสั่งให้กองพันทหารราบที่ ๒๐ และ กองพันทหารราบที่ ๒๑ มาพักร่วมกับกรมทหารราบที่ ๗ ที่บ้านหนองกัง มีกำลังบางส่วนรักษาเส้นทางไว้ที่บ้านปางสาลี ซึ่งเป็นทางแยกร่วมกับบ้านสา และบ้านหนองกัง ส่วนกองพันทหารราบที่ ๑๙ นั้น คงให้วางกำลังรักษาบ้านยางไว้ตามเดิม
ครั้นถึงเดือนธันวาคม ๒๔๘๕ หน่วยกรมทหารราบที่ ๗ ได้รับการผลัดเปลี่ยนให้ลงมาพักฟื้นและปรับกำลังใหม่ ณ ที่ตั้งเดิม คือ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย
ในระหว่างที่มาพักฟื้นนี้ ได้มีการเปลี่ยนตัวผู้บังคับกองพันคือ กองพันทหารราบที่ ๒๑ ได้รับการบรรจุ พันโท จรูญ อินทรกำแหง มาเป็นผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๒๑ แทน พันตรี ยง ศรีคารานนท์ ซึ่งเสียชีวิตในสนามรบ และต่อมา พันตรี ขุน เลื่อนรุกรบ ผู้บังคับกองพันทหารราบได้ถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลสนามเชียงราย เนื่องจากไข้มาลาเรีย ทางราชการจึงได้บรรจุ พันตรี พร บุญยรัตนพันธ์ มาเป็นผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๒๐ แทน พันโท ขุนจำรูญรณสิทธิ์ ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๕๒ มาเป็นผู้บังคับการทหารราบที่ ๗ แทน พันเอก หลวงนิเทศยุทธศิลป์ ซึ่งย้ายไปรับราชการที่อื่น
เดือนมิถุนายน ๒๔๘๕ กรมทหารราบที่ ๗ ทั้งหมดได้เคลื่อนกำลังไปรักษาเส้นทางที่เมืองเลน ในสหรัฐไทยเดิมอีก มีหน้าที่ป้องกันเส้นทางทางปีกขวาและสะพานข้ามแม่น้ำเลน
เดือนมกราคม ๒๔๘๗ กรมทหารราบที่ ๗ ได้กลับมาเข้าที่ตั้งอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย อีกครั้งหนึ่ง เพื่อปรับปรุงกำลัง กองบังคับการกรมทหารราบที่ ๗ ได้เข้าพักบริเวณโรงเรียนบ้านสันคือ กองพันทหารราบที่ ๑๙ พักที่บ้านป่าปู กองพันทหารราบที่ ๒๐ พักบ้านห้วยไคร้ และกองพันทหารราบที่ ๒๑ พักที่บ้านยางแล
ขณะที่พักอยู่ที่ อำเภอแม่จัน ทางราชการได้ย้าย พันตรี พร บุญยรัตนพันธ์ ไปราชการที่อื่น จึงให้ พันโท ทุน เทียมศิลปชัย (ผู้บังคับกองร้อยพิเศษปืนสนามเพลาะ) มารักษาราชการแทน ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๒๐
เดือนพฤศจิกายน ๒๔๘๗ กองบังคับการกรมทหารราบที่ ๗ ได้รับคำสั่งให้นำหน่วยขึ้นไปเปลี่ยนหน่วยของกองพลที่ ๒ ที่บ้านยอง ซึ่งเป้นเมืองสำคัญเมืองหนึ่ง รองลงมาจากเชียงตุง เส้นทางแยกไปทางตะวันออกของเมืองพะยาค กรมทหารราบที่ ๗ ได้ส่งกองพันต่างๆ เข้าสับเปลี่ยนหน้าที่รักษาแทนหน่วยในกรมทหารราบที่ ๕ ของกองพลที่ ๒ คือ บริเวณ เมืองหลวย และเมืองเชียงขาง ตัวกองบังคับการกรมทหารราบที่ ๗ และส่วนที่เหลือตั้งอยู่ในตัวเมืองยอง
เมื่อ ๑ มกราคม ๒๔๘๗ หน่วยในกรมทหารราบที่ ๗ ได้รับคำสั่งหน่วยประจำฝั่งซ้ายแม่น้ำหลวย
เมื่อ เมษายน ๒๔๘๘ หน่วยได้รับคำสั่งให้เดินทางมาเข้าที่ตั้งบริเวณอำเภอเมืองเชียงราย และเตรียมการต่อต้านญี่ปุ่น
เมื่อ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ ญี่ปุ่นแพ้สงคราม และยอมแพ้โดยสันติ หน่วยเริ่มเตรียมเดินทางกลับที่ตั้งปกติ
|
|
๓. ร.๔ (สงครามมหาเอเชียบูรพา)
เมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๔ สงครามมหาเอเชียบูรพา หน่วยนี้ได้นำกำลัง ไปปฏิบัติราชการสนามร่วมกับกองทัพพายัพ ภายใต้การนำของ พันโท ไปล่ ฯ และ พันโท เชื่อม ฯ ที่แม่สอด และจากแม่สอดมุ่งตรงไปยังเชียงราย - เชียงตุง - แม่น้ำรำ ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับมณฑลยูนาน ภารกิจที่ได้รับมอบหมายก็คือ ขับไล่ข้าศึก และรักษาพื้นที่ที่ได้รับมอบ นับว่าหน่วยได้ปฏิบัติภารกิจสำเร็จจนได้รับเหรียญกล้าหาญ สงครามมหาเอเชียบูรพายืดเยื้อเป็นเวลา ๓ ปี ๑๑ เดือน ๘ วัน จึงสงบลง จนเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๘๘ สงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้ยุติลง รัฐบาลไทยในขณะนั้นได้พิจารณาเห็นว่า เมืองเชียงรายมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศลาวและพม่า อาจจะเกิดสถานการณ์ต่อความมั่นคงซึ่งย่อมจะมีผลกระทบกระเทือนต่อการรักษา เอกราช และอธิปไตยของชาติ เหตุการณ์และความรุนแรงของการสู้รบในมหาสงครามโลกที่ผ่านมานั้น ทำให้คนไทยและประเทศไทยต้องมีความระมัดระวัง และรอบคอบในการประเมินสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ จึงเห็นสมควรจัดตั้งหน่วยทหารประจำเมืองเชียงรายขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๑ กองทัพบกได้สั่งให้กองพันทหารราบที่ ๓ กรมทหารราบที่ ๑๔ ซึ่งมีที่ตั้งปกติอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี เคลื่อนย้ายกำลังโดยรถไฟ เข้าสู่จังหวัดลำปาง บริเวณม่อนพญาแช่ ตำบลพิชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง มี พันโท พิศิษฐ์ ไกรจิตติ เป็นผู้บังคับกองพัน ประกอบด้วย ๒ กองร้อย ๑ หมวดปืนใหญ่ทหารราบ ๑ หมวดสื่อสาร ๑ หมวดสูทกรรม และ ๑ หมวดเสนารักษ์
กำลังส่วนนี้ให้เข้าที่พักดังกล่าว เพื่อเตรียมเคลื่อนย้ายไปยังจังหวัดเชียงรายต่อไป
เมื่อเข้าที่ตั้งจังหวัดลำปางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กองพันทหารราบที่ ๓ กรมทหารราบที่ ๑๔ จึงได้ส่งกำลังส่วนล่วงหน้าจำนวน ๑ หมวด ขึ้นไปที่จังหวัดเชียงราย เพื่อเตรียมการในเรื่องสถานที่ โดยได้ให้ ร้อยตรี จำเนียร มีสง่า พร้อมด้วยนายสิบ พลทหาร จำนวน ๑ หมวด เดินทางเข้าไปยังจังหวัดเชียงราย บริเวณบ้านเด่นห้า ตำบลรอบเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ทำการปรับปรุงสถานที่ให้เรียบร้อย พร้อมที่จะรับกำลังพลจากหน่วยที่เข้าที่พักแรมจังหวัดลำปาง
ณ บริเวณบ้านเดิ่นห้านั้น ได้มีการก่อสร้างอาคารไว้ เมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ บ้างแล้ว มีอาคารกองร้อย จำนวน ๒ หลัง อาคารกองบังคับการ ๑ หลัง และบ้านพักนายทหาร ๖ หลัง บ้านพักนาย ๒ แถวๆ ละ ๑๐ ห้อง อาคารดังกล่าวถูกรื้อเมื่อประมาณพุทธศักราช ๒๕๐๒ เพื่อสร้างอาคารใหม่ เพราะเก่า อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม
คณะเตรียมการของ ร้อยตรี จำเนียร มีสง่า ได้ทำการปรับปรุงอาคารบ้านพัก และแผ้วถางบริเวณที่จำเป็น ก็เดินทางตามขึ้นมานับตั้งแต่บัดนั้นจนถึงปัจจุบัน จังหวัดเชียงรายก็ได้มีกำลังทหารประจำอยู่เป็นการถาวร
ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๓ กองทัพบกได้จัดตั้งจังหวัดทหารบกเชียงรายอีกครั้งหนึ่ง ตามพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกองทัพบกในกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ๔) พุทธศักราช ๒๔๙๓ ณ ที่ตั้งของกองพันทหารราบที่ ๓ กรมทหารราบที่ ๑๔ เดิม ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็น กองพันทหารราบที่ ๑ กรมทหารราบที่ ๗ ตามคำสั่งกองทัพบกที่ ๘๗/๗๗๘๑ ลง ๑๙ มิถุยายน ๒๔๙๒ มีผู้บังคับกองพัน และผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเชียงราย คือ พันโท จำลอง อุทะนุต ในเวลาต่อมาได้เปลี่ยนตำแหน่งผู้บังคับกองพัน เป็น พันโท อาจ อาจผจญศึกเก่งพล ขึ้นการบังคับบัญชากับกองพลทหารราบที่ ๗ จังหวัดลำปาง ซึ่งมี พลตรี หลวงสวัสดิฤทธิรณ ฯ เป็นผู้บัญชาการ
ในปีเดียวกันนี้ ได้เปลี่ยนตำแหน่งให้ พันโท พยุง ทองอุทัย เป็นผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเชียงราย และผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๑ กรมทหารราบที่ ๗
ในปีนี้ กองทัพบกได้เปลี่ยนนามหน่วยเป็น กองพันทหารราบที่ ๑ กรมทหารราบที่ ๑๗ ตามคำสั่งกองทัพบกที่ ๘๓/๗๓๑๓ ลง ๑๒ มิถุนายน ๒๔๙๓
ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๔ ได้เพิ่มกำลังทหารขึ้นอีก ๑ กองร้อย และได้เปลี่ยนตำแหน่งผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเชียงราย และผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๑ กรมทหารราบที่ ๑๗ เป็น พันโท เพี้ยน สิทธิมงคล
ต่อมาปีพุทธศักราช ๒๔๙๔ แปรสภาพเป็น กองพันทหารราบที่ ๓ กรมทหารราบที่ ๗ ขึ้นการบังคับบัญชา กองพลที่ ๗ ตามคำสั่งกองทัพบกที่ ๖/๑๒๐๓ ลง ๑๙ มกราคม ๒๔๙๕ กับได้เปลี่ยนตำแหน่ง ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเชียงราย และผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๓ กรมทหารราบที่ ๗ เป็น พันโท เปลี่ยน ศรีรัตน์
และในปีเดียวกัน หน่วยกองพัน หน่วยกองพันทหารราบที่ ๓ กรมทหารราบที่ ๗ ได้รับพระราชทานธงชัยเฉลิมพล จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙) ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร ขณะนั้นมี พลเอก ผิน ชุณหะวัณ เป็นผู้บัญชาการทหารบก
มีการเปลี่ยนตำแหน่ง ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเชียงราย และผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๓ กรมทหารราบที่ ๗ เป็น พันโท เสริม คงสุวรรณ พร้อมกับได้รับการแปรสภาพหน่วยจาก กองพันทหารราบที่ ๓ กรมทหารราบที่ ๗ เป็น กองพันทหารราบที่ ๓ กรมผสมที่ ๗ ตามคำสั่งกองทัพบกที่ ๓๒/๒๗๗๖๐ ลง ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ ซึ่งในปีนี้ได้มีการก่อสร้างอาคารเรือนโรงเพิ่มอีกจำนวนมาก
ปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ เปลี่ยนตำแหน่งผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเชียงราย และผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๓ กรมผสมที่ ๗ เป็น พันโท เสริม คงสุวรรณ (ครั้งที่ ๒)
ปีพุทธศักราช ๒๕๐๒ เปลี่ยนตำแหน่งผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเชียงราย และผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๓ กรมผสมที่ ๗ เป็น พันโท อำนวย ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา
ปีพุทธศักราช ๒๕๑๐ กองทัพบกได้สั่งให้แยกหน่วยทหารในจังหวัดเชียงราย ออกเป็น ๒ ส่วน คือ
๑. หน่วยทหารส่วนกำลังรบ ได้แก่ กองพันทหารราบที่ ๓ กรมผสมที่ ๗ มี พันโท เด่นชัย บุญงาม เป็นผู้บังคับกองพัน
๒. หน่วยทหารส่วนภูมิภาค ได้แก่ จังหวัดทหารบกเชียงราย มี พันเอก ยรรยง หงษ์สีทอง เป็นผู้บังคับการ
ในปีพุทธศักราช ๒๕๑๙ กองทัพบกได้แก้ไขอัตราเฉพาะกิจของจังหวัดทหารบกเชียงรายเสียใหม่ โดยขยายให้มีการบรรจุหมวดสมุดประวัติจังหวัดทหารบกเชียงราย เหล่าสารบรรณ ตามคำสั่งกองทัพบก (เฉพาะ) ที่ ๑๐๓/๑๙ (ครั้งที่ ๕) ลง ๒ ธันวาคม ๒๕๑๙
ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๐ กองทัพบกได้แก้ไขอัตราเฉพาะกิจของจังหวัดทหารบกเชียงราย จากหมวดสมุดประวัติ เป็นแผนกประวัติและบำนาญจังหวัดทหารบกเชียงราย
ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๒ จังหวัดทหารบกเชียงราย ได้รับการบรรจุแผนการฝึกกำลังสำรอง ขึ้นเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๒๑ ตามประกาศกรมการรักษาดินแดน ลงวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๒๑ โดยมีหัวหน้าแผนกการฝึกกำลังสำรอง จังหวัดทหารบกเชียงราย (อัตรา พันตรี) รับผิดชอบการฝึกนักศึกษาวิชาการทหาร ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ทำการฝึกนักศึกษาวิชาการทหารในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และจังหวัดพะเยา โดยรับโอนงานจากแผนกการฝึกกำลังสำรอง มณฑลทหารบกที่ ๗ จังหวัดลำปาง
ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๒๔ แผนกการฝึกกำลังสำรอง จังหวัดทหารบกเชียงราย ได้ขยายอัตราหัวหน้าแผนกการฝึกกำลังสำรองจากอัตรา พันตรี เป็นอัตรา พันโท ตามคำสั่งกองทัพบก (เฉพาะ) ที่ ๖๑/๒๗ ลง ๘ พฤษภาคม ๒๕๒๗ และ กองทัพบกได้มีคำสั่งให้เปิดรับสมัครนักศึกษาวิชาทหารหญิง ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๒๙ จนถึงปัจจุบัน
ครั้นเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๒๗ กองทัพบก ได้มีคำสั่งให้จังหวัดทหารบกเชียงราย (ส่วนแยกพะเยา) ตามคำสั่งกองทัพบกที่ ๒๔๓/๒๗ ลง ๘ ตุลาคม ๒๕๒๗ ขึ้นอีก เพื่อสนับสนุนหน่วยกำลังรบที่จัดตั้งขึ้นใหม่ คือ กรมทหารราบที่ ๑๗ จังหวัดพะเยา |